รู้เท่าทันสาเหตุและการรักษาอาการไข่ดัน

รู้เท่าทันสาเหตุและการรักษาอาการไข่ดัน

ปัจจุบันนี้โรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของต่อมน้ำเหลืองมีพบมากขึ้น ซึ่งไข่ดันก็เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของต่อมน้ำเหลือง โดยในปัจจุบันพบว่าอาการไข่ดันมีมากขึ้น ดังนั้นมาลองทำความรู้จักกับอาการไข่ดันบวมให้รู้ถึงรายละเอียดและการรักษาที่ถูกต้อง

ต่อมน้ำเหลืองคืออะไร

ต่อมน้ำเหลือง คือ ส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีลักษณะคล้ายไข่ขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วร่างกาย เชื่อมต่อกับร่างกายด้วยของเหลวสีเหลืองหรือที่เรียกว่าน้ำเหลือง ซึ่งต่อมนี้จะทำหน้าที่สุ่มตรวจเชื่อโรคที่ปนเปื้อนเข้ามาในของเหลวที่หมุนเวียนอยู่ในร่างกาย หากพบความผิดปกติก็จะทำการกำจัดสิ่งแปลกปลอมออกจากร่างกาย

อาการไข่ดันคืออะไร

ไข่ดัน (Groin Lymph Node Swollen) คือ ความผิดปกติของต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณขาหนีบ โดยต่อน้ำเหลืองจะมีการบวมใหญ่ขึ้นและมีอาการปวดร่วมด้วย ซึ่งอาการไข่ดันนี้สามารถพบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย แต่ส่วนมากจะพบในเพศชายมากกว่า

สาเหตุของอาการไข่ดัน

อาการไข่ดันไม่ว่าในผู้หญิงหรือผู้ชายจะมีสาเหตุที่เหมือนกัน ซึ่งสาเหตุของไข่ดันแบ่งออกเป็น 2 แบบ ดังนี้

1.การได้รับบาดเจ็บของร่างกายส่วนล่าง

เมื่อร่างกายได้รับบาดเจ็บที่บริเวณอวัยวะส่วนล่าง เช่น เท้าและขา เป็นต้น ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับบาดเจ็บจนเกิดการอักเสบ  โดยเฉพาะอาการบาดเจ็บที่ลึกเข้าไปในชั้นหนังแท้หรือชั้นไขมัน ซึ่งมีระบบของเหลวเชื่อมต่อกับอวัยวะภายในอื่น ๆ ทำให้เชื้อโรคที่เกิดจากการอักเสบมีการไหลเข้าสู่ระบบน้ำเหลืองไปยังต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณขาหนีบ ทำให้ต่อมน้ำเหลืองเกิดการอักเสบ บวมแดง และขยายขนาดใหญ่ขึ้น จนกลายเป็นไข่ดัน

2.การติดเชื้อบางชนิด

นอกจากการได้รับบาดเจ็บที่อวัยวะส่วนล่างแล้ว การติดเชื้อนับเป็นสาเหตุหลัก ๆ ที่ก่อให้เกิดไข่ดัน ซึ่งพบว่าร้อยละ 80 ของไข่ดันที่เกิดขึ้นมักมาจากการติดเชื้อ ซึ่งการติดเชื้อที่ทำให้เกิดไข่ดันมีดังนี้

  • การติดเชื้อรา

เชื้อราที่พบว่าเป็นสาเหตุของไข่ดัน คือ เชื้อราที่มาจากโรคน้ำกัดเท้า (Athlete’s foot) หรือโรคเกลื้อน ซึ่งเมื่อเกิดโรคนี้ที่บริเวณเท้าจะมีอาการแสบ คัน และมีตุ่มบวมที่บริเวณนิ้วเท้า ซึ่งผิวหนังบริเวณที่เป็นโรคจะมีเชื้อราสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก เชื้อรานี้จะซึมเข้าสู่ระบบน้ำเหลืองและไหลเข้าไปในร่างกาย ทำให้ต่อมน้ำเหลืองได้รับเชื้อราเป็นจำนวนมาก ไม่สามารถขจัดออกมาได้ จึงเกิดอาการไข่ดันขึ้น

  • การติดเชื้อแบคทีเรีย

เชื้อแบคมีเรียเป็นอีกหนึ่งเชื้อโรคที่สามารถทำให้เกิดไข่ดันได้ โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียที่มาจากเล็บของแมว ดังนั้นเมื่อโดนแมวข่วนที่บริเวณอวัยวะด้านล่าง เชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Bartonella Henselae จะซึมเข้าไปในกระแสเลือดและต่อมน้ำเหลืองทำให้ต่อมน้ำเหลืองโตได้

  • การติดเชื้อที่อวัยวะเพศ

การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ นับว่าเป็นการติดเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคไข่ดันมากที่สุด เพราะเป็นจุดที่อยู่ใกล้กับต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณขาหนีบนั่นเอง ดังนั้นเมื่อมีการติดเชื้อที่อวัยวะสืบพันธุ์ เช่น หนองใน, ซิฟิลิส, เริม, HIV, สังคัง, การติดเชื้อ Candida เป็นต้น โอกาสที่เชื้อจะแพร่ไปยังต่อมน้ำเหลืองจึงมีโอกาสสูงมาก

  • การติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infections)

ระบบทางเดินปัสสาวะเป็นอีกระบบหนึ่งที่อยู่ใกล้กับต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณขาหนีบ ดังนั้นหากระบบปัสสาวะเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อจากการกลั้นปัสสาวะหรือระบบขับถ่ายได้รับสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคเข้าไป ย่อมทำให้เชื้อโรคดังกล่าวแพร่เข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณขาหนีบจนเกิดอาการไข่ดันได้เช่นกัน

  • โรคมะเร็ง (Cancer)

อาการไข่ดันที่มีสาเหตุมากจากโรคมะเร็งนั้นพบได้น้อยมาก เมื่อเทียบกับการติดโรคชนิดอื่น แต่ก็ยังสามารถพบได้ โดยเชื้อมะเร็งจะแพร่กระจายเข้าไปในต่อมน้ำเหลืองทำให้ต่อมน้ำเหลืองเกิดอาการไข่ดันขึ้นได้เช่นกัน โดยโรคมะเร็งที่ก่อให้เกิดอาการไข่ดัน คือ มะเร็งรังไข่, มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งมดลูก, มะเร็งอัณฑะ เป็นต้น

อาการของไข่ดัน

อาการไข่ดันจะสามารถสังเกตได้เด่นชัดก็ต่อเมื่อต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณขาหนีบ มีอาการบวมและส่งผลต่อร่างกายแล้ว ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นมีดังนี้

  • มีอาการปวดที่บริเวณขาหนีบ ซึ่งตรงกับตำแหน่งของต่อมน้ำเหลือง
  • ที่บริเวณต่อมน้ำเหลืองมีอาการบวมขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งบางรายผิวที่บริเวณดังกล่าวจะมีสีแดงหรือม่วง เนื่องจากต่อมน้ำเหลืองมีการอักเสบเกิดขึ้นแล้ว
  • เมื่อคลำที่บริเวณขาหนีบจะรู้สึกคล้ายมีเนื้อจับตัวกันเป็นก้อนอยู่ภายใน ซึ่งขนาดของก้อนเนื้ออาจจะเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับขนาดของต่อมน้ำเหลืองที่เกิดความผิดปกติ
  • มีไข้และเหงื่อออกมากผิดปกติ โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน

ถ้าพบก้อนเนื้อที่บริเวณขาหนีบและมีไข้ร่วมด้วย ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาว่าเป็นไข่ดันหรือไม่  เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

การรักษาอาการไข่ดัน

การรักษาไข่ดันยังไม่มีขั้นตอนรักษาที่ชัดเจนและตายตัว  แต่จะเป็นการรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดไข่ดัน ดังนั้นสิ่งสำคัญในการรักษา คือ ต้องค้นหาสาเหตุของการเกิดไข่ดันให้ได้เสียก่อน จึงจะสามารถทำการรักษาไข่ดันได้ เพราะอาการนี้จะหายไปก็ต่อเมื่อสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหายไปนั่นเอง เช่น หากไข่ดันเกิดจากการติดเชื้อราของโรคกัดเท้า ก็ต้องทำการรักษาโรคกัดเท้าให้หาย อาการไข่ดันก็จะหายตามไปด้วยนั่นเอง

จะเห็นว่าอาการไข่ดันเป็นอาการที่ไม่ได้ร้ายแรงและโอกาสที่เกิดขึ้นก็มีน้อยมาก เพราะต่อมน้ำเหลืองส่วนมากจะสามารถทำลายเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้ามาในต่อมได้อยู่แล้ว แต่หากเกิดความผิดปกติขึ้นจะต้องรักษาที่ต้นเหตุของอาการ ก็จะสามารถหายเป็นปกติได้แล้ว